|
||||||
หลวงพ่อบุญกู้ อนุวฑฺฒโน ผู้สืบทอดมรดกธรรมท่านพ่อลี ธมฺมธโร ชาติสุกล พระครูพุทธิสารสุนทร หรือหลวงพ่อบุญกู้ อนุวฑฺฒโน ผู้สืบทอดมรดกธรรม และลูกศิษย์องค์หนึ่งของท่านพ่อลี ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ นามเดิมท่านชื่อ บุญกู้ นามสกุล น้อยวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒ ปีมะเส็ง ณ บ้านเลขที่ ๑๙๓ ถนนธนบุรี แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร การศึกษาทางธรรม นักธรรมชั้นโท การศึกษาทางโลก จบชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนอัสสัมชัญ การอุปสมบท หลวงพ่อบุญกู้ อนุวฑฺฒโน ท่านได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา ณ พัทธสีมาวัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒ โดยมี พระสุธรรมคณาภรณ์ (พระอาจารย์แดง ธมฺมรกฺขิตฺโต) วัดประชานิยม จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นบวชแล้วท่านก็ได้อยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับท่านพ่อลี ธมฺมธโร ผู้เป็นอาจารย์ อยู่อุปัฏฐากรับใช้ ปฏิบัติธรรม ศึกษาพระธรรมวินัย รวมทั้งหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาจนมีความรู้ในหลักธรรมนั้นตามสมควร สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามกาลสมัย ภายหลังต่อมา เมื่อท่านพ่อลี ธมฺมธโร มรณภาพลงเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านได้อยู่่ร่วมงานศพจนเป็นที่เรียบร้อย แล้วก็ออกเที่ยวเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปตามสถานที่ต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อหาความสงบวิเวกในการบำเพ็ญสมณธรรม ซึ่งสมัยก่อนนั้นป่าเขาตามเขตภาคต่างๆ ของประเทศไทย ยังคงความอุดมสมบูรณ์อย่างหนาแน่นเขียวขจี เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ช้าง เสือ ฯลฯ ไข้ป่า มาลาเลียก็ชุม การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก อันตรายมีมาก ไม่ค่อยจะมีรถโดยสารสัญจรอย่างปัจจุบันสมัย หลวงพ่อบุญกู้ อนุวฑฺฒโน ท่านไปอยู่ศึกษา และปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อาทิเช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร เป็นต้น รวมแล้วท่านไปศึกษา และปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐานเป็นเวลา ๑๓ พรรษา พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ภิกษุอยู่รูปเดียวย่อมเป็นเหมือนพรหม ผู้อยู่สองรูปเป็นเหมือนเทพเจ้า ผู้อยู่มากกว่าสามองค์ขึ้นไปเหมือนชาวบ้าน ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น เพราะฉะนั้นภิกษุพึงเป็นผู้อยู่แต่ผู้เดียว (ยโสธเถรคาถา ๓๖/๓๐๓) หลวงพ่อบุญกู้ อนุวฑฺฒโน ครั้นภายหลังจากที่ได้ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ จากครูบาอาจารย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ตามที่ต่างๆได้ได้กลับมาพำนัก จำพรรษาประจำที่วัดอโศการามตำบลท้ายบาน อำเภอเมือง จ.สมุทรปราการ เพื่ออบรมศีลธรรม อบรมสมาธิภาวนาให้กับภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายรวมทั้งได้รับอาราธนาไปเเสดงธรรมตามหน่วยงานราชการ สถาบัน สถานศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยเเละต่างประเทศบ้าง ต่อมาท่านได้ถูกอาราธนาไปเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศ จำพรรษา ณ วัดต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา ๔ พรรษา สอนกรรมฐาน อบรมศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชนผู้ใฝ่ธรรมทั่วไป ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมทั้งได้อาราธนาให้ไปเยี่ยมวัดในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ในประเทศออสเตรเลีย เยอรมัน ฝรั่งเศส สวีเดน เดนมาร์ก จีน ใต้หวัน เกาหลีใต้ ฯลฯ ผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เพียบพร้อมด้วยยศและโภคะ จะไปประเทศใดๆ ย่อมเป็นผู้อันเขาบูชาแล้ว ในประเทศนั้นๆ ทีเดียว รับอาราธนามาสอนกรรมฐาน ต่อมาทางวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร ขาดครูบาอาจารย์อบรมกรรมฐาน จึงได้อาราธนาให้หลวงพ่อบุญกู้ อนุวฑฺฒโน จากวัดอโศการาม มาพำนักจำพรรษาประจำอยู่ที่วัด เพื่ออบรมศีลธรรม สอนจิตภาวนากรรมฐาน แก่พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา โดยท่านเมตตาเล่าว่า การที่มาอยู่วัดพระศรีมหาธาตุนี้ ก็เห็นประโยชน์กับหมู่คณะพระเณร และญาติโยมที่สนใจอยากจะปฏิบัติธรรม เพราะไม่มีครูบาอาจารย์จะคอยแนะนำสั่งสอนเรื่องจิตภาวนาให้ อีกอย่างเราก็ทำตามท่านพ่อลี ที่ท่านอยากจะให้พระป่ากรรมฐานมาอยู่ประจำที่วัดในเมืองหลวงบ้าง เพื่อคอยแนะนำสั่งสอนอบรมกรรมฐานจิตภาวนา เช่นอย่างแต่ก่อน ท่านพ่อลี องค์ท่านจะเข้ามาอบรมกรรมฐานเป็นประจำอยู่ที่วัดบรมนิวาส รวมทั้งวัดพระศรีมหาธาตุแห่งนี้ หลวงพ่อบุญกู้ อนุวฑฺฒโน อายุ ๘o ปี พรรษา ๕o ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กอปรด้วยศีลและธรรม มีศีลาจาริยวัตรที่งดงาม เป็นพระผู้มีเมตตาจิตสูง เอื้อเฟื้อต่อหมู่คณะพระเณร อุบาสก อุบาสิกา อย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ ท่านได้เสียสละตนเอง เพียรเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมส่วนรวม รดน้ำคือพระธรรมให้ชุ่มชื่นจิตใจสาธุชนทั้งหลายไปทั่วสารทิศ ปัจจุบันนี้ท่านพำนักจำพรรษาอยู่ที่ วัดพระศรีมหาธาตุ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ชีวประวัติ หลวงพ่อบุญกู้ อนุวฑฺฒโน ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ผู้เขียนกราบขออนุญาตองค์ท่าน เพื่อนำมาลงเผยแพร่ที่เว็บไซต์สกลธรรมดอทคอมและวัดป่าออนไลน์ดอทคอม เพื่อเป็นการแสดงความเคารพในองค์ท่าน ผู้เขียนไม่อนุญาตให้บุคคลใด คัดลอกนำไปโดยไม่อ้างอิงที่มา และไม่อนุญาตให้แก้ไขดัดแปลงข้อความใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร ปัญญาวชิโรภิกขุ พระตะวัน คำสุจริต |
|
Online: 8 | Visits: 9,781,514 | Today: 99 | PageView/Month: 9,335 |